รองศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร (22 กันยายน 2495 -) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 15 รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นโอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ กับหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา มีชื่อเล่นว่า "คุณชายหมู"นอกจากนี้เขายังมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับสินนภา สารสาส เมื่อนับจากฝ่ายบิดา
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร สมรสครั้งที่ 1 กับนุชวดี บำรุงตระกูล มีบุตรคือ อาจารย์ ดร. หม่อมหลวงพินิตพันธุ์ บริพัตร (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และสมรสครั้งที่สองกับ นางสาวิตรี บริพัตร ณ อยุธยา (สาวิตรี ภมรบุตร) มีบุตรคือ หม่อมหลวงวราภินันท์ บริพัตร
ปัจจุบัน หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร พำนักอยู่ที่วังสวนผักกาด วังประจำราชสกุลบริพัตร และเป็นประธานกรรมการมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์
ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ณ โรงเรียน Cheam (ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าโรงเรียน) และโรงเรียน Rugby ประเทศอังกฤษ (ดำรงตำแหน่ง หัวหน้า House หรือสี และได้รับทุนการศึกษาเรียนดีเด่น) (พ.ศ. 2506-พ.ศ. 2513)
ระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ 2) และระดับปริญญาโทจาก Pembroke College มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ (เกียรตินิยม) สาขาวิชาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ (PPE) (พ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2520)
ระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางด้านสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (พ.ศ. 2521)
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคนำไทย ร่วมกับนายอำนวย วีรวรรณ เมื่อ พ.ศ. 2537 และเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคนำไทย
ต่อมา หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เข้าเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 6 (บางรัก สัมพันธวงศ์ สาทร แขวงยานนาวาและแขวงทุ่งมหาเมฆ) เมื่อปี พ.ศ. 2539 และ 2544
ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 เนื่องจากการยุบสภา และปฏิบัติหน้าที่รักษาการไปจนกระทั่งได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 24 ของพรรคประชาธิปัตย์ จากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค และดูแลงานทางด้านต่างประเทศและความมั่นคง ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2550 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบสัดส่วนโซน 6 กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี ลำดับที่ 3 และชนะการเลือกตั้ง
ภายหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 และมีการจัดตั้งรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวได้ประกาศตั้งคณะรัฐมนตรีเงาขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเงา
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ในรัฐบาลชวน หลีกภัย เกิดเหตุการณ์ก๊อด อาร์มี่ กองกำลังติดอาวุธของนักศึกษาพม่า บุกเข้ายึดสถานเอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศไทย ที่ถนนสาทรเหนือ และจับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นตัวประกัน
หลังการเจรจาต่อรองเป็นเวลาหลายชั่วโมง ผู้ก่อการร้ายยินยอมปล่อยตัวประกัน แลกกับให้ทางการไทยจัดเฮลิคอปเตอร์ไปส่งที่ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นชายแดนไทย-พม่า โดย หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้น เสนอตัวเป็นตัวประกันนั่งโดยสารไปด้วยเพื่อรับรองความปลอดภัยจนกระทั่งถึงที่หมาย ทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้นยุติลงได้โดยไม่มีการสูญเสียชีวิต[ต้องการอ้างอิง]
ในปี พ.ศ. 2543 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ในระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 14 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2543
บันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีสาระสำคัญส่วนหนึ่ง คือ การสำรวจและปักหลักเขตแดนทางบกจะดำเนินการโดยใช้เอกสารหลักฐานที่ผูกพันไทยและกัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศ คืออนุสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 สนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 กับพิธีสารแนบท้าย และ แผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของ คณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 หลังเกิดกรณี นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงนามในเอกสารแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งอาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศไทยโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เกิดการโจมตีหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์และพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการลงนามในบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 ที่ระบุให้การจัดทำหลักเขตแดนยึดตามแผนที่ฝรั่งเศส-สยาม (ค.ศ. 1904) เป็นแนวทาง โดยไม่ระบุแผนที่แอล 7017 ของสหรัฐอเมริกาที่ไทยใช้อ้างอิง ซึ่งอาจตีความได้ว่ามีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ก่อนการลงนามของนายนพดล ปัทมะ เรื่องดังกล่าว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ชี้แจงว่าการระบุถึงแผนที่ ค.ศ. 1904 เป็นการระบุประกอบเอกสารหลักคือ อนุสัญญา ค.ศ. 1904 และ สนธิสัญญา ค.ศ. 1907 ซึ่งแผนที่จะขัดหรือแย้งไม่ได้ การลงนามในปี พ.ศ. 2543 จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศแต่อย่างใด
ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีชี้มูลความผิด นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในคดีทุจริตโครงการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6,800 ล้านบาท และนายอภิรักษ์ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบนั้น คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จึงมีมติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ส่งชื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตรได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ในการเลือกตั้งในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556 ได้ลงสมัครอีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือได้ไปถึง 1,256,231 เสียง ถือว่าเป็นคะแนนการเลือกตั้งที่สูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีผลงานวิจัยและบทความเกี่ยวกับความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศมากมาย ซึ่งได้ตีพิมพ์และเผยแพร่ทั้งในและนอกประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศญี่ปุ่น ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น อีกทั้งได้มีผลงานทางวิชาการร่วมกับนักวิชาการระดับนานาชาติหลาย คน อาทิ Professor Robert Scalapino
งานเขียนอื่น ๆ : เคยเขียนคอลัมน์ประจำให้แก่ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ และ หนังสือพิมพ์แนวหน้า เคยเขียนคอลัมน์รับเชิญให้แก่นิตยสารต่างประเทศหลายฉบับ รวมถึง Far Eastern Economic Review, The International Herald Tribune, The Asian Wall Street Journal
ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแถลงว่าได้ยื่นเรื่องการตรวจสอบโครงการติดไฟประดับอุโมงค์ไฟแอลอีดี จำนวน 5 ล้านดวง งบประมาณ 39.5 ล้านบาทแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้แจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการมหาดไทย แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.และนายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าฯกทม. ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 123 และพิจารณากำหนดแนวทางการปฏิบัติในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เงินงบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่ายทั่วไป กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้ใช้จ่าย แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในฐานะพนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ให้ดำเนินคดีแก่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมกับแถลงว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กำลังตรวจสอบ โครงการจัดซื้อจ้ดจ้างของกทม. อีก 2-3 โครงการ โดยเฉพาะโครงการจัดซื้อเครื่องดนตรี
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์_บริพัตร